วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ประวัติการก่อตั้งโรงเรียน

โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแห่งแรกของจังหวัดลำปาง
ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ รศ.๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑ ) ณ วัดพระแก้วดอนเต้า
ต่อมาราว รศ. ๑๑๘ ( พ.ศ. ๒๔๔๒ ) ได้ย้ายไปอยู่ที่วัดสุชาดา แล้วย้ายไปอยู่ที่วัดแสงเมืองมา
ในราว รศ. ๑๑๙ ( พ.ศ. ๒๔๔๓ )..... ภายหลังเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครในสมัยนั้น
ได้ย้ายโรงเรียนจากวัดแสงเมืองมามาอยู่ที่หน้าคุ้มของท่าน นักเรียนเพิ่มมากขึ้น
สถานที่เรียนไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน เจ้าบุญวาทย์ฯ จึงได้ซื้อที่ดินบริเวณห้างกิมเซ่งหลี
(ปัจจุบันคือโรงแรมอรุณศักดิ์ )
ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำล้อม อำเภอเมืองลำปาง แล้วย้ายโรงเรียนจากหน้าคุ้มมาตั้ง
ณ ที่แห่งใหม่....
ครั้นถึง รศ. ๑๒๔ ( พ.ศ. ๒๔๔๘ ) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร
ได้เสด็จต่างพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ
ได้เสด็จมาทรงเปิดโรงเรียน เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๘
พระราชทานนาม โรงเรียนว่า " บุญวาทย์วิทยาลัย "
ตามราชทินนามของเจ้าบุญวาทย์ฯ ผู้ครองนครเพื่อเป็นเกียรติยศแก่ท่าน
ปรากฏหลักฐานในพระราชนิพนธ์ " ลิลิตพายัพ " ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งทรงใช้พระนามแฝง " หนานแก้วเมืองบูรพ์ " ว่า
" วันที่ซาวหกนั้น เสด็จไปทรงเปิดโรงเรียนไทย
ฤกษ์เช้าบุญวาทย์วิทยาลัย ขนานชื่อ ประทานนอเป็นเกียรติยศแด่เจ้า ปกแคว้นลำปาง "
.... โรงเรียนบุญวาทย์จึงถือเอาวันที่ ๒๖ พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันสถาปนาโรงเรียนสืบมา
หลังจากโรงเรียนบุญวาทย์ได้ย้ายออกมาหน้าคุ้ม เจ้าบุญวาทย์ได้ตั้งโรงเรียนใหม่ขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง
ตรงที่หอพระบริเวณสวนดอกไม้ในคุ้มหลวง เพื่อให้บุตรหลานของเจ้าพ่อได้เรียนแล้วขยายรับเด็กที่อยู่บริเวณใกล้ๆด้วย
โรงเรียนนี้ไม่มีชื่อ แต่คนนิยมเรียกว่าโรงเรียนเจ้าชื่น ต่อมาย้ายโรงเรียนมาอยู่ตรงหน้าคุ้ม
และได้ชื่อว่า " โรงเรียนบุญทวงศ์อนุกูล " ตามชื่อเดิมของเจ้าบุญวาทย์ฯ
แต่ชาวบ้านมักเรียกว่าโรงเรียนหน้าคุ้ม ภายหลังโรงเรียนแห่งนี้ได้ย้ายมาเรียนรวมกับโรงเรียนบุญวาทย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒..... ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ สถานที่เรียน ( บริเวณห้างกิมเซ่งหลี ) คับแคบเกินกว่าที่จะรองรับนักเรียนที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น จึงย้ายโรงเรียนมาตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง ( คือสถานที่ตั้งของโรงเรียนบุญวาทย์ปัจจุบัน ) ในเนื้อที่ ๔๐ ไร่ ๑งาน ๔ ๔ ๔ ตารางวาต่อมาโรงเรียนบุญวาทย์ได้ขยายชั้นเรียนเพิ่มขึ้นและก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติมมาตามลำดับเพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของการศึกษาและจำนวนนักเรียนในโรงเรียน ในเนื้ที่ขยายออกไปเป็น ๔๔ ไร่ ๓ งาน ๕๔ ตารางวา.... ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เปิดชั้นเตรียมอุดมศึกษาของจังหวัดลำปาง และสร้างอาคารวิทยาศาสตร์โดยใช้เงินงบประมาณและรายได้จากการจัดงานฤดูหนาวของจังหวัดลำปาง โดยมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคสมทบทุนด้วย .... และตั้งแต่วันที่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ได้สถาปนามาจนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๔ โรงเรียนได้มีอายุครบ ๑๐๐ ปี เป็นร้อยปีแห่งความภาคภูมิใจที่ได้สั่งสมมายายนาน ได้สร้างเยาชนที่มีคุณภาพให้แก่ท้งถิ่นและประเทศชาติเกือบ ๑๐๐ รุ่น จึงนับได้ว่าเป็นร้อยปีแห่งความภาคภูมิใจและเกียรติคุณอย่างแท้จริง

เจ้าพ่อบุญวาทย์ วงษ์มานิต ผู้ก่อตั้งโรงเรียนพลตรีมหาอำมาตย์โทเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต (หนานบุญทวงศ์ ณ ลำปาง) เจ้าผู้ครองนครลำปาง นายทหารพิเศษกรมทหารบกราบที่ ๑๗ นครลำปาง สมภพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นบุตรเจ้านรนันทไชยชวลิต ผู้ครองนครลำปาง และเป็นเหลนของเจ้าคำโสม ผู้ครงอนครลำปางคนที่ ๔..... พลตรีเจ้าบุยวาทย์วงษ์มานิต เป็นผู้ที่มีความมั่นคงซื่อสัตย์หนักแน่น จงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรี ได้สละที่ดินและทุนทรัพย์สร้างถาวรวัตถุให้ทางราชการ เช่น โรงเรียนบุญวาทย์วิทยลัย ที่ทำการไปรษณีย์ และอาคารหมวดเสนารักษ์ในค่ายทหาร

นามเดิม
บุญทวงศ์
สมภพ
๖ พฤศจิกายน ๒๔๐๐ (จ.ศ. ๑๒๑๙) ตรงกับวันศุกร์
แรมค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเส็ง ณ ตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
บิดา เจ้านรนันท์ไชยชวลิต
มารดา เจ้าแม่ฟองแก้ว
การศึกษา
- ศึกษาหนังสือไทยเหนือในสำนัก อภิไชย วัดเชียงมั่น นครลำปาง -
ศึกษาหนังสือไทยกลางที่บ้าน (คุ้ม) เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีโรงเรียน
อุปสมบท
สำนักพระปัญญา วัดสวนดอก นครลำปาง
รับราชการ
พ.ศ. ๒๔๒๘ ตำแหน่งพนักงานในกองมหาดไทย
พ.ศ. ๒๔๓๖ ตำแหน่งเสนามหาดไทยและคลัง
๔ มกราคม ๒๔๓๓ เป็น “ เจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ ”
๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๓๘ ตำแหน่งเจ้าอุปราชเมืองลำปาง
๒ ตุลาคม ๒๔๔๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปงสืบแทนบิดา มีนามจารึกในสุพรรณบัตรว่า “ เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต สามันตวิชิตประเทศราช บริษัษย์นารถทิพจักราธิวงษ์ ดำรงโยนวิไสย อภัยรัษฎารักษ์ อุดมศักดิสัตยาธิวรางค์ ลำปางมหานัคราธิปไตย เจ้าผู้ครองนครลำปาง ”
เกียรติคุณและผลงาน
ใ นฐานะเจ้าครองนครลำปาง พลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้าบุญวาทย์ฯ ได้บำเพ็ญกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ต่อนครลำปางและเป็นคุณต่อประเทศชาติเป็นอเนกประการ อาทิ
ด้านการทหารและการป้องกันนคร
ได้ระดมชาวเมืองต่อสู้ป้องกันนครจากเงี้ยวที่ก่อการจลาจล ยกกำลังเข้าตีนครลำปางเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๔๔๕ จนปราบปรามเงี้ยวราบคาบ การที่ท่านระดมพลเมืองเป็นทหารรบพุ่งทำสงครามทำให้เกิดมีกองทหารนครลำปางขึ้น และเพื่อความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของกิจการทหานท่านได้อุทิศที่ดินสร้างโรงทหาร โรงพยาบาลทหาร นับว่าท่านเป็นผู้ริเริ่มและวางรากฐานด้านการทหารให้แก่นครลำปาง
ด้านการศึกษา
การศึกษาของเยาวชนลำปางแต่เดิมอยู่ที่วัดพลตรี มหาอำมาตย์โทเจ้าบุญวาทย์ฯ ได้สนใจติดตามความเคลื่อนไหวด้านการจัดการศึกษาของส่วนกลาง แล้วนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของนครลำปาง นำการศึกษาแบบสอนภายในโรงเรียนเข้ามาแทนการศึกษาในวัดเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ ณ สถานที่ตั้งโรงเรียนเทศบาล ๓ (บุญทวงศ์อนุกูล) ปัจจุบัน
ภายหลังท่านได้สละทรัพย์ส่วนตัวซื้อที่ดินและตึกของห้างเซ่งหลีสร้างโรงเรียนขึ้นอีกแห่งหนึ่งแล้วมอบให้เป็นของรัฐ
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ เมื่อเสด็จถึงนครลำปางได้ทรงพระกรุณาเสด็จทรงเปิดโรเงรียนใหม่นี้เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน และพระราชทานนามว่า “ โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครอง นคร
พลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้าบุญวาทย์ฯ เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาว่าจำเป็นยิ่งต่อการพัฒนานครลำปาง ท่านจึงส่งบุตรหลานของท่านและประชาชนลำปางทีท่านคัดเลือกว่ามีสติปัญญาความสามารถไปศึกษาต่อที่กรุงเทพมหานคร โดยให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงหมาดไทย เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วบบุคลเหล่านี้ก็ได้กลับมาทำงานรับใช้ท้องถิ่นต่อไป
ด้านศาสนา
ท่านได้ให้ความอุปถัมภ์แก่วัดต่างๆโดยทั่วถึง สละทรัพย์สินส่วนตนเพื่อบำรุงศาสนา ทั้งด้านการก่อสร้างและศาสนกิจต่างๆ ด้วยความศรัทธาเลื่อมใสอย่างแท้จริง
อนึ่ง เพื่อให้พระสงษ์ในจังหวัดลำปาง ได้มีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องพระศาสนาดียิ่งขึ้น ท่านได้ส่งพระสงษ์ไปศึกษา ณ วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานครอีกด้วย
ด้านอุตสาหกรรม
ได้จัดตั้งโรงงานทอผ้าและโรงงานฟอกหนังขึ้น น่าจะนับว่าเป็นโรงงานฟอกหนังแห่งแรกของประเทศไทยก็ว่าได้ เพระมีก่อนโรงงานฟอกหนังที่กรุงเทพมหานคร นับว่าท่านเป็นผู้ที่มีความคิดก้าวหน้าและเห็นการณ์ไกลในด้านอุตสาหกรรม อันเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของบ้านเมือง
และรวมถึงด้านการคมนาม ด้านดนตรี และ สาธารณกุศล ถือเป็นเกียรติคุณที่ พลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ได้ทำไว้เพื่อประโยชน์ต่อชาวลำปางสืบต่อไป
ด้วยความปรารถนาจะสร้างอนุสรณ์สถานเพ่อเทิดเกียรติพ่อเจ้าบุญวาทย์ฯ ณ วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๑๖ สมัยนายสุเชฎฐ วิชชวุต เป็นอาจารย์ใหญ่และ นายสุนทร สุวรรณอัตถ์ เป็นนายกสมาคม ได้มีการประชุมคณะกรรมการสมาคมนักเรียนเก่าบุญวาทย์ฯ ร่วมกับคณะผู้บริหารโรงเรียน ที่ประชุมลงมติให้จัดสร้างอนุสาวรีย์ พลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ขึ้น เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและสัการบูชา เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่านผู้สถาปณาโรงเรียน ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ สมัยนายเจือ หมายเจริญ เป็นอาจารย์ใหญ่ นายพินิจ จันทรสุรินทร์ เป็นนายกสมาคมฯ มีมติให้จัดทำเหรียญพ่อเจ้าบุญวาทย์ฯ ให้ประชาชนชาวลำปาง เช่าบูชาโดยกราบนิมนต์ ครูบาเจ้า หลวงพ่อเกษม เขมโก ปห่งสุสานไตรลักษณ์ แผ่เมตตาปลุกเสกการจัดทำเหรียญดังกล่าวมาสำเร็จในสมัย นายสมชาย นพเจริญ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน โดยผ่านการติดต่อประสานงานทาง เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง และเจ้าประเวทย์ ณ ลำปาง ครูบาเจ้าหลวงพ่อเกษม เขมโก ได้เมตตาปลุกเสก พร้อมทั้งเมตตามอบทุนจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท โดยกำหนดวัตถุประสงค์ว่าให้เป็นทุนสำหรับการสร้างอนุสาวรีย์ ๒๐๐,๐๐๐ บาท และสร้างอาคารสมาคม ๒๐๐,๐๐๐ บาท แตหากเงินสำหรับสร้างอาคารสมาคมฯมาสมทบได้..... กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากรได้เป็นผู้ออกแบบและปั้นอนุสาวรีย์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ได้ทรงเป็นประธานเททองหล่อ ศาสตราจารย์นายแพทย์บุญสม มาร์ติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ฐานอนุสาวรีย์และอัญเชิญอนุสาวรีย์ ขึ้นประดิษฐาน เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๒๑ กระทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์เ
พระพุทธเกษมมิ่งมงคล
.... พระพุทธเกษมมิ่งมงคล เป็นพระพุทธปฏิมาประจำโรงเรียนบุญวาทย์ ประดิษฐานอยู่ในศาลาพระพุทธ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หลวงพ่อเกษม เขมโก เป็นผู้มอบให้แก่โรงเรียน .... ภายในศาลายังประดิษฐาน พระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งได้รับบริจาคจาก พลโท อำพล - คุณสินีย์ จุลานนท์ พระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ได้รับบริจาคจากพระสำเร็จ จิตคุตฺโต และรูปหล่อหลวงพ่อเกษมเขมโก ซึ่งได้รับบริจาคจากคุณเดชา และคุณจิตรา สินธุเขียว รูปหล่อนี้หลวงพ่อได้อธิษฐานจิตเองด้วย
.... ศาลาพระพุทธหลังนี้ จัดสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่หลวงพ่อเกษม เขมโก พระอริยสงฆ์เจ้าแห่งจังหวัดลำปางสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง จำลองแบบจากพระวิหารเจ้าแม่จามเทวี วัดปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ตามคำแนะนำของอาจารย์สมพงษ์ ตันติกุลวรชัย ผู้ถอดแบบ คือ อาจารย์เกษม มหาวรรณ ภายใต้การอำนวยการของอาจารย์สายสมร เจริญจันทร์แดง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบุญวาทย์ฯ โดยมีอาจารย์สมบูรณ์ ยศสมแสน อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนบุญวาทย์ฯ เป็นประธานการก่อสร้าง อาจารย์ยอดยิ่ง นุชนิยม เป็นฝ่ายจัดหาทุน โดยได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อเกษม เขมโก ประเดิมทุนจำนวน ๓๐๐ , ๐๐๐ บาท คณาจารย์ตลอดจนศรัทธาสาธุชนร่วมบริจาครวมเงินค่าก่อสร้างประมาณ ๑,๓๐๐ , ๐๐๐ บาท
ศาลเจ้าพ่อกว้าน
.... เมื่อก้าวเข้าสู่ประตูด้านหน้าของบุญวาทย์วิทยาลัย จะสะดุดกับ " ศาล " ทรงไทยที่ตั้งเด่นเป็นสง่าน่าเกรงขามอยู่เบื้องขวามือของประตูโรงเรียน ครูและนักเรียนบุญวาทย์ที่ผ่านเข้าออกประตูนี้ จะยกมือประนมไหว้หรือก้มศีรษะเพื่อคารวะ " เจ้าพ่อ " ที่ประทับอยู่ในศาลนี้ นักเรียนบุญวาทย์ที่เข้าใหม่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ และปีที่ ๔ จะต้องมาสักการะ " ฝากตัว " เบื้องหน้าศาลที่พวกเขารู้จักในนาม " ศาลเจ้าพ่อกว้าน "
" เจ้ากว้าน " คือใคร มาจากใหน เหตุใดจึงเป็นที่เคารพนับถือของชาวบุญวาทย์และชาวนครลำปาง " แหลนน้อย " ได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือ " ที่ระลึก วันครบ ๖๐ ปี บุญวาทย์ " ว่า
" เจ้ากว้าน " เป็นเจ้าพ่อศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ความสำคัญของเจ้ากว้านคงพอๆ กับเจ้าพ่อหลักเมือง ทั้งนี้สันนิษฐานจากการเซ่นสังเวยทุกครั้งที่มีการสังเวยเจ้าพ่อหลักเมือง จะต้องแบ่งครึ่งหนึ่งของเซ่นไปสังเวยเจ้าพ่อกว้านอยู่เสมอ เมื่อเกิดศึกสงครามทหารจะออกรบ หรือเมื่อตำรวจตามจับผู้ร้ายสำคัญ จะต้องไปบวงสรวงเจ้ากว้านเสียก่อน เครื่องเซ่นมีมีหมูดำปลอด ๑ ตัว ไก่คู่ ตีนหมู ( สี่ตัว ) วัวกีบผึ้ง หางไหม ๑ ตัว สมัยก่อนไม่มีที่นั่ง ( ม้าขี่คนทรง ) การบวงสรวงตกเป็นหน้าที่ของลุงแก่ๆ คนหนึ่ง ชื่อลุงแสน ภวังค์ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อนั้น เป็นที่นับถือตั้งแต่เจ้าผู้ครองนครมาจนถึงราษฏรสามัญ ทุกๆปีจะมีการบวงสรวงเซ่นไหว้ประจำปีในเดือน ๙ เหนือ แรม ๕ค่ำ ไม่มีการเชิญเข้าทรงและฟ้อนฝี ดังเช่นปัจจุบัน "
ศาลเจ้ากว้านเดิมตั้งอยู่หลังบ้านพักผู้พิษากษา หัวหน้าศาล ถนนบุญวาทย์ เป็นศาลทรงไทยขนาดใหญ่ กว้ายาวประมาณ ๑๐ คูณ ๒๐ เมตร สร้างด้วยไม้สัก สลักลวดลายที่หน้าจั่วอย่างสวยงาม เป็นศาลตัดสินความของทางราชการ ภายในศาลมีแท่นสำหรับเจ้านาย หรือบัลลังก์ของจ่าบ้าน หรือผู้พิพากษา
สมัยโบราณ เมื่อมีคดีความที่จะต้องพิพากษาตัดสินก่อนจะให้การต่อศาล คู่กรณีต้องไปสาบานต่อหน้าหอเล็กๆ ที่กล่าวนี้ คือ ที่สิงสถิตของเจ้าพ่อกว้าน และศาลสถิตยุติธรรมก็พลอยมีชื่อเรียกว่า ศาลเจ้าพ่อกว้านตามไปด้วย
ต่อมามีการสร้างศาลยุติธรรมขึ้นใหม่ ( ศาลจังหวัดปัจจุบัน ) การชำระคดี จึงได้ย้ายไปทำกันที่ศาลใหม่ ทางการจึงได้รื้อศาลเจ้าพ่อกว้านหลังเดิมมาสร้างขึ้นใหม่ในบริเวณโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย เพื่อเป็นการอนุรักษ์เอาไว้ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๙ และโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยได้ใช้ศาลเจ้ากว้านเป็นสโมสรลูกเสือ และใช้เป็นสถานที่อบรมครูจังหวัด ต่อมาได้ใช้เป็นห้องเรียนของนักเรียน ชั้น ม. ๑ นักเรียนบุญวาทย์ครั้งนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นลูกเจ้ากว้านด้วย
ในพ.ศ. ๒๔๙๗ โรงเรียนได้งบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ ซึ่งมีเนื้อที่ครอบคลุมถึงบริเวณศาลเจ้าพ่อกว้าน ดังนั้นศาลเจ้าพ่อกว้านเดิมจึงถูกรื้อถอน บางส่วนของชิ้นไม้ที่ประกอบเป็นศาลถูกนำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์วัดเมืองศาสน์บ้าง วัดพระแก้วดอนเต้าบ้าง และทางโรงเรียนได้สร้างศาลเล็กๆ ขึ้นมาแทน เพื่อเป็นที่สถิตย์ของเจ้าพ่อกว้าน ต่อมาได้ย้ายมาสร้างใหม่ให้ใหญ่โตสวยงามขึ้น ณ บริเวณที่ตั้งปัจจุบัน
ทุกครั้งที่มีงานสำคัญ หรือมีกิจกรรมของโรงเรียน ครูและนักเรียนบุญวาทย์ฯ จะไปบอกกล่าวขอความคุ้มครอง ขอกำลังใจจากเจ้าพ่อกว้าน ทุกคนสำนึกว่า นอกจากความเป็นลูกเจ้าพ่อบุญวาทย์ฯ เลือดแดง - ขาวแล้ว ชาวบุญวาทย์ฯ ยังเป็นลูกเจ้าพ่อกว้านด้วย
ไม่ว่าโลกแห่งวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีจะเจริญก้าวหน้าไปเพียงใด " เจ้าพ่อกว้าน " ก็ยังคงเป็นมิ่งขวัญและที่ยึดเหนี่ยวทางใจของลูกบุญวาทย์ตลอดไป มื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น